วันพุธที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

กระดังงา


ชื่อ : กระดังงา
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Canaga odorata (Lam.) Hooker f. & Thomson
ชื่อวงศ์ :  Annonaceae
ชื่อเรียกอื่น : กระดังงาใบใหญ่ (กลาง) สะบันงา สะบันงาต้น (เหนือ)
ลักษณะ :  ไม้ยืนต้นขนาดกลาง ถึงขนาดใหญ่ ไม่ผลัดใบ สูงประมาณ 15-20 เมตร เรือนยอดทรงพุ่มแน่น แตกกิ่งก้านสาขามาก แผ่ออกจากต้นมักลู่ลง ลำต้นตั้งตรง เปลือกต้นสีเทาเกลี้ยงหรือสีเงิน พบรอยแผลใบขนาดใหญ่อยู่ทั่วไป ส่วนที่ยังอ่อนอยู่มีขนปกคลุม ใบดกหนาทึบ เป็นใบเดี่ยว สีเขียวอ่อนบาง นิ่ม ออกแบบเรียงสลับในลักษณะห้อยลง รูปขอบขนาน กว้าง 4-9 ซม. ยาว 7-12 ซม. ปลายแหลมหรือมีติ่งแหลม โคนมนกลมหรือเบี้ยว ขอบใบเป็นคลื่น ผิวใบเรียบบาง นิ่ม สีเขียวอ่อน ใบอ่อนมีขนทั้งสองด้าน ใบแก่มักมีขนมากตามเส้นแขนงใบ เส้นแขนงใบ 5-9 คู่ เป็นร่องส่วนบนของใบ และนูนเด่นชัดด้านล่างของใบ เส้นกลางใบเห็นชัดเจน ก้านใบยาว 1-1.5 ซม. ดอกเป็นช่อขนาดใหญ่บนกิ่งเหนือรอยแผลใบ ช่อดอกแยกแขนง ช่อหนึ่งมี 3-6 ดอก เส้นผ่าศูนย์กลางดอก 4-6 เซนติเมตร ก้านช่อดอกมีขน ก้านดอกยาว 2-4 ซม. ดอกย่อยสีเหลืองอมเขียวหรือสีเหลือง มีกลิ่นหอมมาก กลีบยาวอ่อน มี 6 กลีบ กลีบดอกห้อยลง กลีบดอกแบ่งเป็น 2 ชั้น ชั้นละ 3 กลีบ กลีบชั้นนอกรูปแคบยาว ปลายเรียวแหลม ขอบกลีบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย (เป็นคลื่นน้อยกว่ากระดังงาสงขลา) กลีบดอกกว้าง 0.5-1.5 ซม. ยาว 5-8.5 ซม. กลีบชั้นในสั้นและแคบกว่าเล็กน้อย โคนกลีบดอกจะซ้อนทแยงอยู่ใต้รังไข่ กลีบเลี้ยง 3 กลีบ รูปสามเหลี่ยม ยาวราว 0.5 ซม. มีขนปกคลุม ปลายกลีบกระดกขึ้น รังไข่จำนวนมาก เกสรตัวผู้มีจำนวนมากเบียดกันเป็นตุ้มแป้นทรงกลมตรงกึ่งกลางดอก ผลเป็นผลกลุ่ม มีจำนวน 4-12 ผล แต่ละผลเป็นรูปไข่ กว้าง 1-1.5 ซม. ยาว 1.5-2.5 ซม. ก้านช่อผลยาว 2-2.5 เซนติเมตร ก้านผลยาว 1.3-2 ซม. ผลมีสีเขียวเข้ม เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีดำ เมล็ดรูปไข่แบน สีน้ำตาลอ่อน มี 2-12 เมล็ด ออกดอกออกผลตลอดปี ขยายพันธุ์โดยเมล็ดหรือกิ่งตอน
ประโยชน์ : มีความเชื่อว่า ต้นกระดังงา เป็นต้นไม้มงคลที่จะช่วยเสริมให้ผู้ปลูกเป็นคนมีชื่อเสียงโด่งดัง มีเงินทอง ลาภยศ อีกทั้งยังมีผู้คนนับหน้าถือตา หากจะให้ดียิ่งขึ้นควรเลือกปลูกในทิศตะวันออกของบ้าน เพื่อเพิ่มความเป็นสิริมงคลกับตัวบ้านและผู้อยู่อาศัยในบ้านด้วย

        นอกจากนี้ส่วนต่าง ๆ ของกระดังงา ยังสามารถนำไปทำประโยชน์ได้ด้วย เช่น เปลือก ใช้นำไปทำเชือก, ใบและเนื้อ ใช้ต้มกินเป็นยาขับปัสสาวะ, ดอก กลั่นเป็นน้ำหอม หรือเป็นส่วนผสมของยาหอมเพื่อแก้วิงเวียน และนำดอกไปทอดกับน้ำมันมะพร้าวเพื่อทำน้ำมันใส่ผม หรือนำมาลนไฟใช้อบขนมเพื่อเพิ่มกลิ่นหอมก็ได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น